การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ “ที่ดิน” ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ เพราะหากได้ “ทำเลทอง” ที่ใช่
โดนใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ออกแบบโปรดักท์จะบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม ตรงความต้องการตลาด โอกาสที่จะกวาดยอดขายย่อมมีมากขึ้น
ทว่า หลายปีที่ผ่านมา จำนวนที่ดินแปลงสวยหากยากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นตัวแปรที่ดัน “ราคาที่ดิน” ให้พุ่งสูง แต่ผู้บรรดานักพัฒนาอสังหาฯหรือดีเวลลอปเปอร์ยังซื้อขายกันที่ดินทุบสถิติราคาแพง สะท้อน “ดีมานด์” ยังมีอยู่มาก
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวม 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม กำหนดให้ปี 2555 เป็นปีฐาน และจัดทำดัชนีเป็นรายไตรมาส
ในการศึกษาจะใช้ข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเปล่าของกรมที่ดิน โดยจะคัดเลือกเฉพาะที่ดินเปล่าไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง ที่มีขนาดที่ดินตั้งแต่ 200 ตารางวาขึ้นไป และจะใช้ข้อมูลเฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ผู้โอนหรือผู้รับโอนที่เป็น “นิติบุคคล” เท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นราคาซื้อขายจริง ซึ่งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องบันทึกค่าใช้จ่ายหรือรายได้ให้ถูกต้องเพื่อสามารถคำนวณภาษีและค่าใช้จ่ายในแต่ละปี
วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลการจัดทำดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาใน พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2561 มีค่าดัชนีเท่ากับ 223.2 จุด เพิ่มขึ้น 1.8% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 219.2 จุด และปรับเพิ่มขึ้น 32.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 168.3 จุด
สาเหตุดัชนีราคาที่ดินเปล่าปรับเพิ่มขึ้น มาจากทำเลของดินที่อยู่ใกล้แนวเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยเฉพาะส่วนต่อขยายสายสีเขียว (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เพราะมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการไปหมาดๆเมื่อ6 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา
ส่วน 5 ทำเลทองที่ราคาที่ดินเปล่าก่อนพัฒนาพุ่งขึ้นแรงสุดในไตรมาส 4 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นดังนี้ 1. ทำเลเขตพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ การปรับของราคาเพิ่มมากสุด 61.8% ตามด้วย 2.ทำเลจังหวัดสมุทรสาคร ปรับราคาเพิ่มขึ้น 56.1% โดยส่วนใหญ่ทำเลที่ปรับเพิ่มขึ้นจะอยู่ในบริเว อำเภอเมืองและอำเภอกระทุ่มแบน 3. ทำเลเขตราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทอง มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.2 4) ทำเลจังหวัดนครปฐม มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 55.1% ทำเลฮอตราคาขึ้นแรงส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณ อำเภอกำแพงแสน อำเภอเมือง และอำเภอสามพราน และ 5.ทำเลบางกรวย-บางใหญ่-บางบัวทอง-ไทรน้อย มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 49.8%
จากทำเล 5 อันดับแรก ยังสะท้อนให้เห็นแนวโน้มความต้องการที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยขยายตัวไปในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล และชานเมืองมากขึ้นด้วย เพราะต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งทำเลทองใจกลางกรุง กรุงเทพชั้นในหายากมากขึ้น
นอกจากนี้ หากพิจารณาแยกตามทำเลเฉพาะที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน จะพบว่า 5 อันดับแรก ราคาที่ดินปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ 1.สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ)พุ่งขึ้น 44.6% จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้วเสร็จและเปิดให้บริการถึง 9 สถานี ได้แก่ สถานีสำโรง ปู่เจ้าสมิงพราย ช้างเอราวัณ โรงเรียนนายเรือ ปากน้ำ ศรีนครินทร์ แพรกษา สายลวด และเคหะสมุทรปราการ
“การเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียยว ส่งผลให้ราคาที่ดินในแนวรถไฟฟ้าปรับสูงขึ้นมาก ส่วนสายสีเขียวช่วงสมุทรปราการ-บางปู ซึ่งเป็นโครงการในอนาคต ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ราคาที่ดินก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันในอัตรา 44.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นตามช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการนั่นเอง
ตามด้วย 2.สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) มีปรับราคาเพิ่มขึ้น 40.1% 3 . สายสีน้ำเงิน (บางแค-สาย 4)มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 35.8% 4.ที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 34.3% และ 5. สายสีแดงเข้ม (หัวลำโพง-มหาชัย)มีปรับราคาเพิ่มขึ้น 30.2 %
"ที่มา กรุงเทพธุรกิจ"