บอร์ดผังเมือง ผ่านร่างผังเมือง กทม. อนุมัติปรับผังสี 31 จุด ปลดล็อกเกณฑ์ความกว้างถนน พร้อมให้สิทธิพิเศษ พ.4-พ.5 กรมโยธาฯรับกระแสค้านลดลงมาก หลังจากคณะกรรมการผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ประชุมพิจารณาร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (กทม.) (ปรับปรุงครั้งที่ 3) เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงผังสีกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งสิ้น 31 บริเวณ และปรับแก้ไขเรื่องความเข้มข้นของเกณฑ์ความกว้างถนนในการก่อสร้างอาคารสูง ให้ไปใช้ตามกฎกระทรวงผังเมืองรวม พ.ศ. 2549 แทน และให้สิทธิเพิ่มเติมแก่บริเวณพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) บริเวณ พ.4-พ.5 ให้ก่อสร้างอาคารสูงได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเกณฑ์ความกว้างถนน ให้ยึดเพียงกฎหมายฉบับอื่น เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กฎหมายสิ่งแวดล้อมแทน ล่าสุด วันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีประชุมคณะกรรมการผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อลงมติร่างผังเมืองรวมดังกล่าว
นอกจากนี้ การปรับผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน 31 ทำเล มีทำเลน่าสนใจอยู่ 2 แห่ง คือ ทำเลเอกมัย ซึ่งเดิมเป็นสีส้มและสีน้ำตาลคนฝั่ง ปรับเป็นสีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) ทั้ง 2 ฝั่ง และทำเลสุขุมวิทตรงข้ามไบเทค (บางนา) จากสีส้มเป็นสีแดง (พื้นที่ดินเพื่อการพาณิชย์) ทำให้ก่อสร้างอาคารได้มากขึ้น
นายเชตวัน อนันตสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ประชุมเสนอให้สำนักผังเมือง กทม. กลับไปทบทวนความเข้มข้นของเกณฑ์ความกว้างถนนการก่อสร้างอาคารสูง โดยปรับจากที่เสนอ 16 เมตร ในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารขนาด 10,000 ตร.ม.) ขึ้นไปหลายพื้นที่ กลับมายึดตามกฎกระทรวงผังเมืองรวม กทม. พ.ศ. 2549 ทำให้กระแสคัดค้านร่างผังเมืองฉบับดังกล่าวลดลงมาก ที่ประชุมจึงลงมติเห็นชอบร่างดังกล่าวเรียบร้อยแล้วทั้งหมด ตามการประชุมครั้งที่แล้วโดยขั้นตอนต่อไป จะติดประกาศให้ประชาชนทราบภายใน 90 วัน โดย กทม.จะเป็นผู้นำร่างที่ผ่านการอนุมัติแล้วไปติดประกาศ
ตั้งอนุกรรมการอีกชุดพิจารณาคำร้อง
"แม้ว่าตอนนี้กระแสคัดค้านจะลดลง แต่จากประสบการณ์การติดประกาศของร่างผังเมือง กทม.ฉบับปี 2549 มีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านถึงกว่า 2,000 ราย เพราะประชาชนจำนวนมากไม่เข้าใจ แต่ก็ยื่นเรื่องร้องเรียนมาก่อน ทำให้ต้องใช้เวลาพิจารณาคำร้องนาน ที่ประชุมจึงได้เสนอว่า หากมีคำร้องเข้ามามาก ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มอีกหนึ่งชุด จากเดิมที่มีแล้ว 1 ชุด เพื่อมาช่วยกันพิจารณาคำร้องให้เสร็จทันประกาศใช้ก่อนผังเมืองฉบับปัจจุบันหมดระยะต่ออายุในวันที่ 15 พ.ค. ปีหน้า"นายเชตวัน กล่าว
เขา กล่าวว่า ที่ประชุมยังขอให้สำนักผังเมือง รายงานผลทุก 15 วันหลังติดประกาศไปแล้ว เพื่อให้ทราบว่าแต่ละช่วงมีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาแล้วเท่าไร และให้เร่งจัดหมวดหมู่ของคำร้องโดยเฉพาะ เพื่อให้พิจารณาได้ทัน เช่น หมวดหมู่ผังสี หมวดหมู่ถนน หมวดหมู่ระยะถอยร่น
ทั้งนี้ คำร้องที่น่ากังวลที่สุด คือ การขอแก้ไขสาระสำคัญภายในร่างผังเมือง เพราะหากจำเป็นต้องแก้ไขสาระสำคัญ จะทำให้ต้องติดประกาศใหม่อีก 90 วัน และอาจประกาศใช้ไม่ทันช่วงต่ออายุ จนอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่นผังเมืองที่กำลังขาดอายุในปัจจุบันอย่างนนทบุรี อย่างไรก็ดี คณะกรรมการผังเมืองวางกรอบเวลาพิจารณาคำร้องทั้งหมดไว้ 2 เดือน โดยกรมจะส่งกรรมการร่างกฎหมายเข้าไปช่วยสำนักผังเมืองด้วย
กรณีหากการพิจารณาคำร้องทั้งหมดเสร็จสิ้น โดยไม่ต้องแก้ไขสาระสำคัญ อีกขั้นตอนหนึ่งที่ต้องใช้เวลานาน คือการให้โรงพิมพ์ตีพิมพ์แผนที่ผังสี เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพราะต้องส่งกลับไปมาตรวจทานทุกสีทุกบริเวณอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 วัน
แนะ กทม.เวนคืนจุดจำเป็น
นายเชตวัน กล่าวอีกว่า กรณีที่สำนักผังเมืองจัดทำแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง แนบท้ายร่างผังเมือง โดยมีแผนจะเวนคืนที่ดินในถนนสายรองให้เป็น 12 เมตร จำนวน 19 สาย และให้เป็น 16 เมตร อีก 86 สาย โดยรอประชาชนถอยร่นก่อนแล้วจึงค่อยเวนคืน เขามองว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากปัจจุบันกรุงเทพฯ มีประชากรราว 12 ล้านคน การรอประชาชนถอยร่นเพื่อขยายถนน 1 สายดูจะเป็นไปไม่ได้ จึงคุยกับสำนักผังเมืองนอกรอบว่า หากบริเวณใดจำเป็นจริงๆ ให้ออกกฎหมายเวนคืนบริเวณนั้นๆ ไปเลย
ส่วนที่ กทม.กังวลว่า การเข้าไปดับไฟในซอยแคบกรณีเกิดเพลิงไหม้จะทำได้ยากนั้น เชื่อว่าปัญหาหลักอยู่ที่การบริหารจัดการภายในซอย เพราะโดยปกติรถดับเพลิงเข้าซอยขนาด 10 เมตรได้ แต่มักพบปัญหา เช่น มีรถจอดบริเวณ 2 ข้างทาง
"ถนนสาธารณะไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ขณะที่การจะเวนคืนหรือขยายถนนก็ยังทำได้ยาก กทม.จึงควรเข้มงวดส่วนอื่น เช่น ออกข้อบังคับที่ชัดเจนเกี่ยวกับการห้ามจอดรถภายในซอย เพื่อให้ซอยเข้าออกได้ง่าย รวมถึงเข้าไปดับเพลิงได้ง่ายด้วย"
ม.ร.ว.เปรมศิริ เกษมสันต์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. กล่าวว่า วันนี้ (10 พ.ค.) กทม. เรียกประชุมตัวแทนจากทุกเขตในกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมการติดประกาศร่างผังเมืองรวม กทม.ที่ผ่านการลงมติแล้วให้ประชาชนทราบ โดยจะติดประกาศตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. นี้เป็นต้นไป ตามสำนักงานเขต กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักผังเมือง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่า 172 แห่ง
ดันแก้พ.ร.บ.ควบคุมอาคารลดแออัด
นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับเกณฑ์ความกว้างถนนให้เป็นไปตามผังเมืองรวม กทม. 2549 อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมไม่ได้ต้องการให้กลับไปยึดเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่ต้องการให้เมืองพัฒนาไปเช่นเดียวกับต่างประเทศ เพราะในสิงคโปร์มีประชากรหนาแน่นถึงกว่า 6,000 คนต่อตร.กม. ขณะที่กรุงเทพฯ ยังมีเพียง 3,000 คนต่อตร.กม. จึงเชื่อว่ากรุงเทพฯยังไม่หนาแน่น อีกทั้ง ตั้งแต่มีควบคุมเรื่องอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (เอฟเออาร์) ก็ทำให้อาคารสูงหนาแน่นน้อยลงไปมากแล้ว
อย่างไรก็ดี สมาคมเข้าใจสำนักผังเมือง กรณีที่เคยกล่าวว่าประชาชนในเมืองไม่ชอบคอนโดมิเนียมในซอย เพราะกังวลว่าจะทำให้ซอยแออัด จึงได้หารือกับผู้ประกอบการในสมาคมเพื่อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาคารสูงเพิ่มเติม
เปิดพ.4-พ.5ดันเมืองโตเทียบสิงคโปร์
ด้าน นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีปรับข้อกำหนดของผังสีการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณ พ.4-พ.5 ให้ก่อสร้างอาคารสูงได้ โดยไม่ต้องยึดเกณฑ์ความกว้างถนน ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมือง เพราะบริเวณดังกล่าว พัฒนาให้หนาแน่นได้ และอาคารแนวสูงในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ก็พัฒนาให้เติบโตอย่างหนาแน่นลักษณะเดียวกันนี้